เปิดแนวคิด นโยบายเรือนจำท่องเที่ยว

อายุตม์ สินธพพันธุ์
อธิบดีกรมราชทัณฑ์

จากนโยบาย ของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในการพัฒนาพื้นที่เรือนจำทัณฑสถานให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ส่งเสริมและสร้างโอกาสให้ผู้ต้องขังได้ฝึกทักษะด้านต่างๆ สามารถต่อยอดเป็นอาชีพหลังพ้นโทษได้อย่างยั่งยืน จนปรากฏผลเป็นรูปธรรม และเมื่อปลายปีที่ผ่านมาได้มีการเปิดโครงการเรือนจำท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด “Cook & Coff @ราชบุรี ท่องเที่ยวเกษตรวิถี…คืนคนดีสู่สังคม”
ล่าสุด อธิบดีกรมราชทัณฑ์ สานต่อนโยบาย รมว.ยุติธรรม ในการนำพื้นที่บริเวณโดยรอบเรือนจำเพื่อใช้ประโยชน์ ทั้งเพื่อสร้างความหวังและประกายแห่งความเชื่อมั่นที่ดีของสังคมในการหยิบยื่นโอกาสให้ผู้ต้องขังให้กลับตัว แก้ไขสิ่งผิด มีรายได้เลี้ยงตนเอง และยังเพื่อทำให้พื้นที่เรือนจำก่อให้เกิดประโยชน์ รวมถึงเตรียมนำเรือนจำท่องเที่ยวมาจัดนิทรรศการในงาน นิทรรศการกรมราชทัณฑ์ ที่เรือนจำกลางคลองเปรมในเดือนพฤษภาคมนี้อีกด้วย

ทำพื้นที่ให้เกิดประโยชน์
โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการฝึกอบรม ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ พัฒนาพื้นที่เรือนจำ-ทัณฑสถานเปิดทุกจังหวัดเป็นแหล่งท่องเที่ยว เชื่อเป็นประโยชน์ผู้ต้องขังได้ฝึกอาชีพ จากจำนวนเรือนจำทั่วประเทศ 143 แห่ง ปัจจุบัน ได้เริ่มมีการนำร่องใช้พื้นที่เรือนจำชั่วคราวและด้านหน้าเรือนจำที่มีพื้นที่ เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินในการนำร่องปรับเป็นเรือนจำท่องเที่ยว นำร่อง 5 แห่งในปี 2563 และ ในปี 2564 เตรียมดำเนินการเพิ่มเติม 24 แห่ง
นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงที่มาของเรือนจำท่องเที่ยวว่า เรือนจำท่องเที่ยวเกิดจากนโยบายของ พณ.รมว.ยุติธรรม สมศักดิ์ เทพสุทิน ปัจจุบันเรือนจำทั่วประเทศมีจำนวน 143 แห่ง เรือนจำท่องเที่ยวเราใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณเรือนจำชั่วคราวและหน้าเรือนจำที่มีด้านหน้า ด้านข้าง เพื่อปรับเป็นแหล่งท่องเที่ยว คำว่าเรือนจำท่องเที่ยว ไม่ใช่หมายถึงท่องเที่ยวในเรือนจำ แต่หมายถึงพื้นที่ด้านหน้าเรือนจำ เหมือนคำโบราณที่เรียกว่า หับเผย หับแปลว่าปิด เผยแปลว่าเปิดออก เหมือนประตูคุก ที่ท่องเที่ยวบางที่อยู่ที่หน้าเรือนจำชั่วคราว บางที่อยู่หน้าเรือนจำ ส่วนเรือนจำที่ทำแล้ว ได้แก่ เรือนจำชั่วคราวดอยคาจังหวัดเชียงราย เรือนจำชั่วคราวเขากลิ้งจังหวัดเพชรบุรี เรือนจำชั่วคราวเขาระกำจังหวัดตาก เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้วจังหวัดระยอง และที่เรือนจำชั่วคราวสวรรคโลก หลักการคือ เราทำพื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ มีการฝึกเรื่องทำอาหาร ทำกาแฟให้กับผู้ต้องขัง ก็นำมาด้านหน้าให้มีร้านกาแฟของเรือนจำแต่ละแห่ง Cook &Coffในพื้นที่นั้นอาจจะมีการประกอบอาหาร ขายกาแฟ และพื้นที่ที่ทำเกษตรพอเพียง โครงการพระราชทาน โคก หนอง นา น้ำใจแห่งความหวังด้วย รองรับธุรกิจการบริการและท่องเที่ยวในอนาคต เพื่อเป็นแหล่งศึกษาโครงการพระราชทานเกษตรทฤษฎีใหม่”

สร้างอาชีพ สร้างรายได้
ในแต่ละพื้นที่ของเรือนจำท่องเที่ยว จะถูกปรับแปลงโฉมให้เหมาะสมตามโลเคชั่น และเพื่อให้เป็นที่สนใจและน่าเข้ามาท่องเที่ยวของประชาชน
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวต่อว่า “โดยในปี 2563 ได้มีการดำเนินการนำร่องมาแล้ว 5 แห่ง และปี 2564 จะมีเพิ่มเติม 24 แห่ง ซึ่งตอนนี้ รมว. ยุติธรรม เปิดไว้ 2 แห่ง ต้องเรียนว่ามีเรือนจำอีกหลายแห่งที่ทำล่วงหน้าไปแล้ว อย่างที่สวรรคโลก ซึ่งกิจกรรมเรือนจำท่องเที่ยวมีหลายกิจกรรมขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่อย่าง
ทัณฑสถานเปิดห้วยโป่ง มีกิจกรรมอาชาบำบัด โดยการนำม้ามาให้ประชาชนขี่ในช่วงเวลาว่าง หรือการบำบัดเด็กพิเศษ โดยมีผู้ต้องขังเป็นผู้จูงม้าโดยแต่ละแห่ง
จะมีการประกอบอาหาร การทำร้านกาแฟ ร้านค้าผลิตภัณฑ์งานฝีมือของผู้ต้องขังจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งการฝึกการประกอบอาหารถือเป็นอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับผู้ต้องขัง” เพื่อสร้างทักษะความชำนาญในสถานที่ปฏิบัติงานจริง และยังมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของผู้ต้องขังให้กับผู้ที่มาเยี่ยมถือเป็นการสร้างรายได้จากการฝึกวิชาชีพให้แก่ผู้ต้องขังภารกิจการคืนคนดีสู่สังคม เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการสร้างโอกาสการยอมรับจากสังคมภายนอก

ยกเรือนจำท่องเที่ยวร่วมโชว์
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวต่อว่า การสร้างความประทับใจให้กับประชาชนที่มาท่องเที่ยว location แต่ละแห่งไม่เหมือนกัน บางแห่งมีบึงน้ำกว้าง เช่น เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ ก็จะมีกิจกรรมกีฬาทางน้ำ มีพายเรือคายัค มีการขายสเต็ก ด้านเปิดทัณฑสถานห้วยโป่งมีการจำหน่ายผัดไท แต่ละแห่งมีความแตกต่างไม่เหมือนกันซึ่งในประมาณปลายเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนมิถุนายน จะมีงานนิทรรศการกรมราชทัณฑ์ ซึ่งจำหน่ายสินค้าหลายอย่างส่วนใหญ่เป็นเฟอร์นิเจอร์จากการฝึกอาชีพของผู้ต้องขัง ปกติจะจัดขึ้นทุกปีอยู่แล้ว แต่เรื่องเรือนจำท่องเที่ยว ปีนี้จะเป็นปีแรกที่มีการนำมาจัดนิทรรศการร่วมด้วย

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมายหลายโซน อาทิ การแข่งขันการทำอาหารโดยทัณฑสถานหญิงแต่ละแห่งแข่งขันการทำผัดไท ทำไข่พะโล้ ส่วนทัณฑสถานชาย จะมีการแข่งทำราดหน้า หมูปิ้ง ผัดซีอิ๊วเป็นต้น และที่สำคัญมีการแสดงผลผลิตจากโครงการพระราชทาน เศรษฐกิจพอเพียง โคก หนอง นา น้ำใจแห่งความหวัง “และที่แตกต่าง คือ โซนจำหน่ายสินค้าเฟอร์นิเจอร์กรมราชทัณฑ์ที่แตกต่างกัน เช่น ไม้ชิงชัง ไม้ประดู่ ไม้พะยูง รวมถึงงานดีไซน์ใหม่ๆ
ซึ่งทางกรมราชทัณฑ์ได้ทำ MOU กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมาออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้ ซึ่งจะทำให้รูปแบบงานดีไซน์ดีขึ้นจากในอดีตในส่วนภาคใต้
เช่น นราธิวาส ยะลา ปัตตานี การเดินทางค่อนข้างไกล จึงไม่ค่อยได้นำสินค้า
ขึ้นมาร่วมจำหน่ายในงาน ส่วนใหญ่จะจัดนิทรรศการในพื้นที่ภาคใต้แต่ปีนี้
จะนำขึ้นมาจัดแสดง และจำหน่ายด้วยที่บริเวณด้านหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม”