ย้อนตำนานสระบุรี สืบสานประเพณีหนึ่งเดียวในโลก

“ตักบาตรดอกเข้าพรรษา” ประจำปี 2561

เชื่อว่า “ดอกเข้าพรรษา” เมื่อนำมาตักบาตรจะได้บุญกุศลแรง และสีของกลีบประดับมีหลายสี เช่น สีเหลือง สีขาว และ สีม่วง ซึ่งแต่ละสีมีความเชื่อ ดังต่อไปนี้ สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา สีเหลือง
หมายถึง สีแห่งพระสงฆ์ สีม่วง เป็นสีที่หายากที่สุด และ ชาวอำเภอพระพุทธบาทเชื่อว่าการใส่บาตรด้วยดอกสีม่วงจะได้บุญกุศลมากที่สุด

ซึ่งเมื่อพระสงฆ์ได้รับบิณฑบาตแล้วก็จะนำไปสักการะรอยพระพุทธบาท อันจะส่งผลบุญให้ผู้ทำบุญตักบาตรได้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ดอกเข้าพรรษาหรือดอกหงส์เหิน   ซึ่งหนึ่งปีจะออกดอกเพียงครั้งเดียว เฉพาะในช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษาเท่านั้น ในท้องที่อำเภอพระพุทธบาท พบว่ามี 2 สกุล ได้แก่ สกุลกระเจียว มีดอกสีขาวหรือขาวอมชมพู และสกุลหงส์เหิน ดังกล่าวไว้ข้างต้น เมื่อถึงวันเข้าพรรษา คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ชาวอำเภอพระพุทธบาทจะพากันไปเก็บดอกเข้าพรรษา  ตามไหล่เขาโพธิลังกาหรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวง และเขาพุในเขต อำเภอพระพุทธบาท นำมาจัดรวมกับธูปเทียนเพื่อตักบาตรถวายพระ  ที่จังหวัดสระบุรีได้จัดพิธีตักบาตรดอกเข้าพรรษาและถวายเทียนพระราชทาน ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารพระอารามหลวง ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี และเป็นสถานที่ประดิษฐาน

“รอยพระพุทธบาท” อันศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพบูชา ซึ่งมีความเชื่อในคติชาวลังกาว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ 5 แห่ง และรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาทฯ แห่งนี้ เป็น 1 ใน 5 แห่ง ต่อมารอยพระพุทธบาทนี้ถูกค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม

จังหวัดสระบุรีร่วมกับเทศบาลเมืองพระพุทธบาท เตรียมจัดงานประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวสระบุรี “ตักบาตรดอกเข้าพรรษา” ประจำปี 2561 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และเผยแพร่อีกหนึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของประเทศไทย ให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมย้อนตำนานสระบุรี สืบสานประเพณีหนึ่งเดียวในโลก ระหว่างวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2561 นี้

นายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เปิดเผยว่า การจัดงานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษาและถวายเทียนพระราชทาน จังหวัดสระบุรีเป็นงานที่จัดขึ้นระหว่างจังหวัดสระบุรี ร่วมกับเทศบาลเมืองพระพุทธบาท วัดพระพุทธราชวรมหาวิหาร และภาคเอกชน เพื่อเป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น จนมาเป็นประเพณีของจังหวัด และปัจจุบันเป็นประเพณีระดับประเทศ และได้ชื่อว่าเป็น “ประเพณีหนึ่งเดียวในโลก” และเป็นประเพณีสำคัญที่อยู่คู่กับวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารมาช้านาน พี่น้องประชาชนชาวพระพุทธบาท และพื้นที่ใกล้เคียง จะถือเอาวันเข้าพรรษาของทุกปีเป็นวันตักบาตรดอกเข้าพรรษา

งานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา เป็นประเพณีสำคัญ ถือเป็นหนึ่งเดียวของไทย ที่อยู่คู่กับวัด พระพุทธบาทราชวรมหาวิหารมาช้านาน โดยพี่น้องประชาชนชาวพระพุทธบาท และใกล้เคียง ที่นำดอกเข้าพรรษามาบูชาสักการะรอยพระพุทธบาท เป็นประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์และยิ่งใหญ่ ของชาวจังหวัดสระบุรี โดยวันจัดงานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา จะถือเอาวันเข้าพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หรือช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษาของทุกปี เป็น วันจัดงาน ตามความเชื่อที่มีสืบต่อกันมานั้น โดยผู้เฒ่าผู้แก่ ประชาชน และคนหนุ่มสาว ทุกเพศ ทุกวัย ต่างพากันไปทำบุญตักบาตรดอกเข้าพรรษา เนื่องในวันเข้าพรรษาที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร

ดังนั้นเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของท้องถิ่น และจังหวัดสระบุรี ตามนโยบายของรัฐบาล และแผนยุทธศาสตร์ รวมทั้งนโยบายของจังหวัด ที่ได้ผลักดันและส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัด ในปี พ.ศ. 2561 นี้ จังหวัดสระบุรีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนทุกแขนง รวมทั้งประชาชนชาวจังหวัดสระบุรีตื่นตัว และเตรียมตัวต้อนรับนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่จะเดินทางมาชมงานครั้งนี้ ซึ่งจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่กว่าทุกปี เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมย้อนตำนานสระบุรี สืบสานประเพณีหนึ่งเดียวในโลก
-ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าว

นายชนัตถ์ นันทปัญญา ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดงานฯ หนึ่งในคณะกรรมการการจัดงานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษาฯ กล่าวว่า เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของประเทศไทย และวัฒนธรรมอันล้ำค่าของท้องถิ่นทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสระบุรีอีกทางหนึ่งด้วย เทศบาลเมืองพระพุทธบาท จึงได้กำหนดให้มีการจัดงานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา และถวายเทียนพระราชทาน ประจำปี 2561 โดยกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2561 ณ บริเวณถนนสายคู่ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

ในวันแรกของการจัดงาน จะเป็นพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ในอาณาบริเวณพระพุทธบาท การแสดงศิลปะพื้นบ้าน วัฒนธรรม และขบวนต่างๆ จะเริ่มเคลื่อนขบวนออกจากหน้าสำนักงานเทศบาลเมืองพระพุทธบาท ไปตามถนนพหลโยธิน และเลี้ยวเข้าบริเวณวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร โดยดอกไม้ที่ใช้ตักบาตรแด่พระภิกษุสงฆ์นั้นจะต้องเป็น “ดอกเข้าพรรษา” เท่านั้น ซึ่งในปีนี้จะมีพิธีเปิดงาน ในวันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม 2561

สำหรับขบวนรถบุปผชาติที่มีความสวยงาม เป็นที่สนใจของทั้งชาวสระบุรีและนักท่องเที่ยวที่มาชมนั้น ในปีนี้ประกอบด้วย ขบวนที่ 1 ขบวนพยุหยาตราและขบวนเจ้าเมืองสระบุรี ขบวนที่ 2 ขบวนเทียนพรรษาพระราชทาน ขบวนเทียนพรรษาสระบุรี ขบวนที่ 3 ขบวนรถบุปผชาติ ขบวนที่ 4 ขบวนศาสนาและวัฒนธรรม

ในอดีตเมื่อถึงวันเข้าพรรษา คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ชาวอำเภอพระพุทธบาทและบุคคลทั่วไปจะพากันไปเก็บดอกเข้าพรรษาตามไหล่เขาโพธิลังกาหรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวง และเขาพุในเขตอำเภอพระพุทธบาท นำมาจัดรวมกับธูปเทียนเพื่อตักบาตรถวายพระ ซึ่งในปัจจุบันทางจังหวัดสระบุรีได้ร่วมอนุรักษ์โดยการจัดพิธีตักบาตรดอกเข้าพรรษาและถวายเทียนพระราชทาน ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง และเป็นสถานที่ประดิษฐาน “รอยพระพุทธบาท” อันศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพบูชา ซึ่งมีความเชื่อในคติชาวลังกาว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ 5 แห่ง และรอยพระพุทธบาทที่วัด พระพุทธบาทฯ แห่งนี้ เป็น 1 ใน 5 แห่ง ต่อมารอยพระพุทธบาทนี้ถูกค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม เมื่อพระสงฆ์ได้รับบิณฑบาตแล้วก็จะนำไปสักการะรอยพระพุทธบาท อันจะส่งผลบุญให้ผู้ทำบุญตักบาตรได้ขึ้นสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์

สำหรับ ดอกเข้าพรรษา หรือ ดอกหงส์เหิน เป็นพืชที่จัดอยู่ในตระกูลขิง เป็นไม้ดอกเมืองร้อน และเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นเป็นหัวประเภทเหง้าแบบมีรากสะสมอาหาร คล้ายกระชาย กาบใบเรียงตัวกันแน่น สูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหอก ออกเรียงสลับซ้ายขวาเป็นสองแถว ส่วนดอกมีลักษณะอ่อนช้อยสวยงามยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร มีสีเหลืองสดใสคล้ายรูปหงส์กำลังเหินบิน และสีของกลีบประดับมีหลายสี เช่น สีเหลือง สีขาว และสีม่วง ซึ่งหนึ่งปีจะออกดอกเพียงครั้งเดียว เฉพาะช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษา เท่านั้น