ไทยพาณิชย์ตั้งบริษัทลูก SCB Abacus
SCB Abacus ถูกแยกออกมาเป็นบริษัทลูกเพื่อให้ทำงานได้คล่องตัว โดยจะยังเน้นให้บริการเฉพาะบริษัทภายในเครือไทยพาณิชย์เป็นหลัก ตัวอย่างโครงการที่ SCB Abacus จะเข้ามามีบทบาทสนับสนุนธุรกิจของไทยพาณิชย์ ได้แก่พัฒนาระบบ Recommendation Engine ช่วยแนะนำบริการในแอพ SCB Easy, นำ AI มาช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์ด้านประกันภัยที่เหมาะสมกับลูกค้าเป็นรายบุคคล โดยใช้อุปกรณ์ IoT มาช่วยเก็บข้อมูล, นำ AI มาช่วยคาดเดาปัญหาที่ลูกค้าจะโทรเข้ามายังคอลล์เซ็นเตอร์ เพื่อโอนสายไปยังผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง
SCB Abacus ได้ ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ มาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) โดยก่อนหน้านี้ ดร.สุทธาภา เป็นรองผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุดของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ของธนาคารไทยพาณิชย์ ประวัติของ ดร.สุทธาภา จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และระดับปริญญาเอกจากสถาบัน MIT ก่อนมาร่วมงานกับไทยพาณิชยื ดร.สุทธาภา เคยทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ที่กรุงวอชิงตันดีซี และผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังมาก่อน
จุดแข็งของ SCB Abacus คือการดึงตัวผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี AI ที่เคยทำงานในบริษัทระดับโลกมาร่วมทีม, การมีข้อตกลงกับสถาบัน MIT เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้งาน รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลจำนวนมหาศาลของกลุ่ม SCB ที่มีอยู่แล้ว
SCB Abacus ยังตั้งคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายธุรกิจ เช่น ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล (อดีตผู้อำนวยการ สวทช.), ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร (ซีอีโอ ปตท.), คุณวิลาสินี พุทธิการันต์ (อดีตผู้บริหารระดับสูง AIS ส่วนงานบริการลูกค้า) และ ศ.ดร.เบ็นจามิน แวนรอย (มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด)
ส่วนแนวทางการตั้ง SCB Abacus มองโจทย์ว่าบริษัทมีข้อมูลปริมาณมาก ทำอย่างไรจึงจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ได้ จึงตั้งใจแยกบริษัทออกมาทำงานขนานกับ DV โดยมีเป้าหมายเพื่อทดลองเรื่อง AI กับ Big Data เป็นหลัก ตอนนี้ข้อมูลที่ธนาคารมียังเป็นข้อมูลแบบ traditional ที่ธนาคารเคยเก็บไว้ เป็นข้อมูลทั่วๆ ไปว่าลูกค้าเป็นใคร ทำอะไรบ้าง ถือว่าเป็นข้อมูลพื้นๆ แต่ในอนาคต Abacus จะต้องไปไกลกว่านี้ ต้องมีข้อมูลแบบ unstructured ที่ครอบคลุมทุกแง่มุมของลูกค้า เพื่อนำไปต่อยอดบริการให้ได้กว้างไกลขึ้น เพื่อสร้าง predictive และ insight ใหม่ๆ ที่ธนาคารไม่เคยมีมาก่อน
การนำข้อมูล big data มาใช้บริหารความเสี่ยง จะยังช่วยให้ธนาคารบริหารสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นมาก มีอัตราหนี้เสีย (NPL) ไม่ถึง 2% ซึ่งธนาคารในประเทศไทยไม่เคยทำได้มาก่อน ในอีก 6 เดือนจากนี้น่าจะเห็นผลงานของ SCB Abacus